โรงงานยาสูบ กระทรวงการคลัง (อังกฤษ: Thailand Tobacco Monopoly;ชื่อย่อ: รยส., TTM) เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในประเทศไทย ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง ทำหน้าที่ประกอบธุรกิจผลิตและจัดจำหน่ายบุหรี่สำเร็จรูป ปัจจุบันผลิตบุหรี่ทั้งสิ้น 18 ตรา และเป็นรัฐวิสาหกิจที่มีรายได้นำส่งเป็นรายได้ของรัฐสูงเป็นลำดับที่ 6 ของรัฐวิสาหกิจไทย มูลค่ากว่า 8,927.00 ล้านบาท (พ.ศ. 2557)
ในช่วงปี พ.ศ. 2482 รัฐบาลในขณะนั้นมีนโยบายที่จะดำเนินกิจการอุตสาหกรรมยาสูบ โดยพลตรี หลวงชำนาญยุทธศิลป์ เริ่มดำเนินการซื้อโรงงานยาสูบไทย ของห้างหุ้นสุ่วน บูรพายาสูบ จำกัด ซึ่งตั้งอยู่บรเวณสะพานเหลือง ถนนพระราม 4 มาดำเนินการภายใต้การควบคุมดูแลของกรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2482 โดยใช้ชื่อว่า "โรงงานยาสูบไทย สะพานเหลือง" ต่อมาเปลื่อนชื่อเป็น "โรงงานยาสูบสรรพสามิต 2" จากนั้นกิจการได้ขยายตัวมากขึ้น และได้ซื้อกิจการของบริษัท กวางฮก จำกัด บริษัท ฮอฟฟัน จำกัด และโรงงานผลิตบุหรี่ย่านถนนเจริญกรุง พร้อมกับกิจการเพาะใบยาสูบของบริษัท ยาสูบอังกฤษ - อเมริกัน (ไทย) จำกัด เข้ามาสมทบกับโรงงานยาสูบ และใช้ชื่อว่า "โรงงานยาสูบ กรมสรรพสามิต"
กิจการดำเนินมาจนกระทั่งในช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพา เกิดการกักตุนบุหรี่ และเหตุการณ์ทหารญี่ปุ่นเข้ายึดโรงงานผลิตบุหรี่ย่านถนนเจริญกรุง ในช่วงปลายปี พ.ศ. 2484 ทำให้กิจการของโรงงานยาสูบต้องหยุดดำเนินการในชั่วระยะหนึ่ง
ในปี พ.ศ. 2485 ได้มีประกาศพระราชกฤษฎีกาจัดวางระเบียบราชการกรมโรงงานอุตสาหกรรมในกระทรวงอุตสาหกรรม พ.ศ. 2485 เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2485 ให้โอนกิจการโรงงานยาสูบ กรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง ไปสังกัดกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม จนในปี พ.ศ. 2486 จึงโอนมาสังกัดกรมสรรพสามิตเช่นเดิม และได้มีประกาศพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ. 2485 ให้การประกอบกิจการอุตสาหกรรมซิกาแรต เป็นอุตสาหกรรมผูกขาดของรัฐ แต่ในขณะเดียวกันโรงงานก็ประสบปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบเป็นอย่างมาก จนถึงในปี พ.ศ. 2488 จึงต้องปิดโรงงานที่สะพานเหลือง และที่ถนนวิทยุ
ในปี พ.ศ. 2491 จึงได้เปิดดำเนินการโรงงานที่สะพานเหลืองอีกครั้งหนึ่ง และได้ดำเนินกิจการก้าวหน้าเป็นลำดับ จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2497 จึงได้โอนจากสังกัดกรมสรรพสามิต มาสังกัดกระทรวงการคลังโดยตรง
อ่านบทความฉบับสมบูรณ์ได้ที่ http://th.wikipedia.org/wiki/โรงงานยาสูบ_กระทรวงการคลัง